บทเรียน

กลอนแปด

กลอนแปด เป็นคำประพันธ์อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันทั่วไป เพราะเป็นร้อยกรองชนิดที่มีความเรียบเรียงง่ายต่อการสื่อความหมาย และสามารถสื่อได้อย่างไพเราะ ซึ่งกลอนแปดมีการกำหนดพยางค์และสัมผัส มีหลายชนิดแต่ที่นิยมคือ กลอนสุภาพ

 

การสัมผัสของกลอนแปด

การสัมผัสของกลอนแปด

 

ลักษณะคำประพันธ์กลอนแปด
        1. บท บทหนึ่งมี 4 วรรค
วรรคที่หนึ่งเรียกวรรคสดับ  วรรคที่สองเรียกวรรครับ  วรรคที่สามเรียกวรรครอง  วรรคที่สี่เรียกวรรคส่งแต่ละวรรคมีแปดคำ จึงเรียกว่า กลอนแปด
2.  เสียงคำ กลอนทุกประเภทจะกำหนดเสียงคำท้ายวรรคเป็นสำคัญ กำหนดได้ ดังนี้
คำท้ายวรรคสดับ กำหนดให้ใช้ได้ทุกเสียง คำท้ายวรรครับกำหนดห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี คำท้ายวรรครองกำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี  คำท้ายวรรคส่งกำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี
3. สัมผัส
ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำที่สามหรือที่ห้า ของวรรคที่สอง (วรรครับ)
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครอง) และคำที่สามหรือที่ห้าของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง)
สัมผัสระหว่างบท ของกลอนแปด คือ
คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไปต้องรับสัมผัส ที่คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ)
ข.   สัมผัสใน แต่ละวรรคของกลอนแปด แบ่งช่วงจังหวะออกเป็นสามช่วง ดังนี้
หนึ่งสองสาม – หนึ่งสอง – หนึ่งสองสาม
ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะในแต่ละวรรคนั่นเอง ดังตัวอย่าง
อันกลอนแปด – แปด คำ – ประจำวรรค
วางเป็นหลัก – อัก ษร – สุนทรศรี

 

ตัวอย่างกลอนแปด
เรื่องกานท์กลอนอ่อนด้อยค่อยค่อยหัด
แม้นอึดอัดขัดใจอย่าไปเลี่ยง
ทีละวรรคถักถ้อยนำร้อยเรียง
แม้ไม่เคียงเยี่ยงเขาจะเศร้าไย
วางเค้าโครงโยงคำค่อยนำเขียน
เฝ้าพากเพียรเจียรจารนำขานไข
จะถูกนิดผิดบ้างช่างปะไร
เขียนด้วยใจใฝ่รักอักษรา
แม้ไม่เก่งเพลงกลอนยังอ่อนด้อย
แต่ใจรักถักถ้อยร้อยภาษา
แม้ถ้อยคำนำเขียนไม่เนียนตา
อย่าโมโหโกรธาต่อว่ากัน
ทุกทุกวรรคถัก-ร่ายหมายสืบสาน
ทุกอักษรกลอนกานท์บนลานฝัน
อาบคุณค่าช้านานแห่งวารวัน

 

กฎของกลอนแปด
การสัมผัส
        ให้คำสุดท้ายวรรคแรก(วรรคสดับ) ไปสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๒(วรรครับ)ให้คำสุดท้ายวรรคที่สอง(วรรครับ) ไปสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓(วรรครอง)ให้คำสุดท้ายของวรรคที่สาม(วรรครอง) ไปสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง)การสัมผัสระหว่างบท หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การสัมผัสเชื่อมร้อยระหว่างบท”  การเชื่อมสัมผัสระหว่างบท ให้คำสุดท้ายของวรรคทึ่สี่ คือ วรรคส่ง ไปสัมผัส กับคำสุดท้ายของวรรคที่สอง คือวรรครับของบทถัดไป ให้แต่งเชื่อมบทอย่างนี้ เรื่อยไปจนจบเนื้อความตามที่ต้องการ
การบังคับสัมผัส
          มีข้อบังคับสัมผัสนอก ๓ แห่ง คือ ในบท ๒ แห่ง และสัมผัสเชื่อมระหว่างบท ๑ แห่ง และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะสัมผัสสระ หรือพยัญชนะเพื่อความไพเราะในบทเดียวกัน ก็จักทำให้กลอนแต่ละบทมีความไพเราะเสียงกลมกลืนยิ่งขึ้น
ข้อบังคับ เรื่องการกำหนดเสียงวรรณยุกต์ ในคำสุดท้ายของแต่ละวรรค มีดังนี้
        คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ใช้เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา แต่ไม่นิยมสามัญ
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ห้ามใช้เสียง สามัญ และตรี นิยมใช้ จัตวา เป็นส่วนมาก
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ใช้เสียง สามัญ หรือ ตรี ห้ามใช้ เอก โท จัตวา
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ใช้เสียงสามัญ หรือ ตรี ห้ามเสียง เอก โท จัตวา ส่วนมากนิยมเสียงสามัญ

ใส่ความเห็น